หัวข้อ : ชุดชาวลื้อ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
ชื่อเรื่อง : ชุดชาวลื้อ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
สถานที่ : มหาวิทยาลัยพะเยา
วันที่บันทึก : 2018-05-22
ผู้บันทึก : นายนริศ ศรีสว่าง
รายละเอียด
ชาวลื้ออำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ส่วนใหญ่มีเชื้อสายบรรพชนที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากกลุ่มเมืองที่ตั้งอยู่ฟากตะวันออกแม่น้ำโขงในดินแดนสิบสองปันนาและบริเวณใกล้เคียง เคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งหลักแหล่งยังที่ลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ ทั้งที่เชียงม่วน และเชียงคำ ในช่วงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์อาจก่อให้เกิดการสร้างสรรค์เครื่องนุ่งห่มที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากชาวลื้อในกาลก่อนและชาวลื้อถิ่นอื่น ๆ ที่ต่างก็ได้มีการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์นั้น โดยเฉพาะการแต่งกายที่สั่งสมสืบทอดกันต่อมาจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชาวลื้อเชียงคำ ดังนี้
การแต่งกายในชีวิตประจำวันของผู้ชายชาวลื้อเชียงคำ จะสวมเสื้อแขนสั้นหรือแขนยาวแบบผ่าอก นุ่ง “เต่วสามดูก” (ลักษณะเช่นเดียวกับ “เตี่ยวสะดอ” ของคนเมือง) เป็นกางเกงขากว้าง การแต่งกายในงานประเพณีหรือโอกาสพิเศษ แบบแรกเป็นเครื่องแต่งกายเฉพาะของผู้ชายชาวลื้อที่มีตำแหน่งทางการปกครองหรือมีเชื้อสายเจ้านายเท่านั้น โดยใส่เสื้อที่มีชายสั้น เรียกว่าเสื้อตั้งแอว เสื้อแบบพิเศษอีกลักษณะคือเสื้อผ่าอกแบบเสื้อจีนชายสั้นแต่แขนใหญ่ (เอว) กางเกง เรียกว่า “เต่วเปาโย้งโหขาว” ส่วนในการบวชลูกแก้ว (บวชนาค) ของชาวลื้อเชียงคำ มีลักษณะเป็นเสื้อกั๊กเรียกว่า “เส่อปา” นุ่งโจงกระเบนผ้าลายตาตารางหรือผ้าสีพื้น เมื่อลาสิกขาแล้วนิยมนำเสื้อนี้มาใส่ในโอกาสพิเศษเพื่อแสดงสถานะว่าเป็นผู้ที่มีวิชาความรู้ เสื้อนี้ยังตกทอดเป็นสมบัติของลูกผู้ชายในตระกูล
การแต่งกายของผู้หญิงชาวลื้อเชียงคำ จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของเสื้อที่นุ่ง เสื้อแบบแรกคือเสื้อปั๊ดแขนยาวสีล้วน แบบที่สองเป็นของผู้ที่มีฐานะและสวมใส่ในโอกาสพิเศษ จะประดับด้วยแถบริ้วผ้าสลับสี แบบที่สามลักษณะเข้ารูปแขนกุดเรียกว่าเสื้อปีกหิ้น
ผ้าที่ใช้ในการตัดเย็บชุดเป็นผ้าฝ้ายปั่นมือทอมือ หากมีฐานะจะใช้ผ้าแพรจีน และผ้าทอโรงงานที่นำมาจำหน่ายในตลาด เนื่องจากในอดีตผ้าทอจากโรงงานมีราคาแพง ผู้ที่มีฐานะเท่านั้นที่จะซื้อหามาใช้ได้
[update : 2018-05-22 10:35:51]
รูปภาพประกอบ